ตอนเด็กๆทุกคนคงเคยโดนคุณพ่อคุณแม่ดุ “อย่าอ่านการ์ตูนให้มันมากนักเลยลูก ไร้สาระ อ่านหนังสือหนังหาซะมั่ง” ในความคิดของบุคคลทั่วไป การ์ตูนนั้นคือสิ่งที่เราอ่านเพื่อการบันเทิง แม้บางเรื่องอาจจะมีเนื้อหาเครียดบ้าง หรือมีพื้นฐานมาจากเเรื่องจริง แต่สุดท้ายก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งเพื่อการผ่อนคลาย สนุกสนาน ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในระดับที่จะมีอะไรเป็นแก่นสารแก่กระบวนการความคิดได้ เท่ากับนวนิยายหรือวรรณกรรมอื่นๆ ซึ่งผมก็ไม่ได้จะโต้เถียงอะไรเพราะโดยส่วนมากมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ หากแต่ก็มีการ์ตูนบางเรื่องซึ่งอาจจะนับเป็นข้อยกเว้นได้
ตอนแรกๆที่ผมแนะนำเพื่อนให้อ่าน หงสาจอมราชันย์ นั้นเพื่อนถามว่ามันดียังไง ผมบอกว่ามันมีเนื้อเรื่องที่ดีมากๆ เป็นหนังสือการ์ตูนที่ให้อะไรกับผมเยอะทีเดียว เพื่อนผมฟังแล้วหัวเราะ ประมาณว่า พูดจริงพูดเล่นนี่ การ์ตูนนี่นะ.
ผมอ่าน หงสา ครั้งแรกโดยไม่มีใครแนะนำเลย ทีแรกสะดุดตากับหน้าปกและลายเส้น ที่แปลกแหวกแนวออกไปจากเรื่องอื่นๆ แต่พอเห็นชื่อคนแต่งเท่านั้นผมก็คว้าหมับทันทีเลยครับ เพราะชอบใจกับการประพันธ์เนื้อเรื่องของอาจารย์ Chang Mou (เฉิน เหมา) จากเรื่อง “อมนุษย์ สามก๊ก” และ “เทพวิบัติ” เหลือเกิน ชอบจริงๆ วันนี้จะขอบังอาจนำเนื้อหาของ อมนุษย์ สามก๊ก บางตอนให้ทุกท่านได้อ่านกันเล่นๆดู
ขงเบ้งเมื่อวัยหนุ่มนั้นถูกขุนพลอุยเอี๋ยนหยามเหยียดเมื่อครั้งจะเข้า ด้วยฮองโจที่เมื่องเจียงแฮ โชคดีที่ได้ฮองตงชี้แนะค่อยฮึดสู้สลัดความท้อแท้ ยอมสู่ขอบุตรีของคหบดีเมืองเก็งจิ๋ว โดยไม่ได้นำพาว่านางจะมีรูปโฉมอัปลักษณ์เพียงใด เพียงเพื่อหวังโอกาสไต่เต้าในหน้าที่การงาน ภายหลังได้รับความไว้วางใจจากเล่าปี่แต่งตั้งเป็นกุนซือ แต่แล้วเขาก็ต้องพบกับอุยเอี๋ยนอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทั้งมวล
ครั้งนั้น เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สามพี่น้องร่วมสาบานแห่งสวนท้อต่างก็ล่วงลับไปหมดแล้ว ยังแต่ขงเบ้งรั้งตำแหน่งมหาอุปราช ยุคนั้นคนดีมีฝีมือต่างล้มหายตายจากไปสิ้น แคว้นฉูแทบทั้งแค้วนมองไปเห็นจะมีแต่ เกียงอุยและอุยเอี๋ยนเท่านั้น ที่ยังมีความเก่งกล้าสามารถได้ทัดเทียมขุนพลรุ่นก่อน แต่ขงเบ้งกลับถือพยาบาทฝังใจในความขัดแย้งแต่หนหลัง ปล่อยละเลยไม่ได้ให้งานใหญ่แก่อุยเอี๋ยนให้สมศักดิ์ศรีฝีมือ อุยเอี๋ยนได้แต่คับแค้นใจอยู่เสมอมา
ขงเบ้งเฝ้าเพียรกรีธาทัพเข้าตีอุยก๊กอยู่หลายครั้ง หวังสถาปนาแผ่นดินของเล่าปี่นายรักให้ยั่งยืนเป็นปึกแผ่น ครั้งหนึ่งขณะเข้าตีเมืองซีเฉินจวนจียนจะแตกหักได้เมืองอยู่แล้ว แต่เสียดายทัพหนุนของข้าศึกเร่งรุดมาโดยรวดเร็ว ขงเบ้งประเมินแล้วคงจะตีเมืองมิได้ทัน จึงได้สั่งถอยกำลังก่อนทัพหนุนข้าศึกจะมาถึง อุยเอี๋ยนคุมทัพม้าเป็นหัวหอกเข้าตีเมืองไม่สนใจคำสั่งมหาอุปราช กลับนำทหารเร่งเข้าตี ด้วยฝีมือระดับยอดขุนพล อุยเอี๋ยนตีเมืองแตกสำเร็จ พอดีกับเอียวหงี(ขุนนางคนหนึ่ง ผู้คอยประจบประแจงขงเบ้งอยู่เสมอมา) นำคำสั่งขงเบ้งให้คุมตัวอุยเอี๋ยนกลับโทษฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และสั่งให้ถอยทัพทันที อุยเอี๋ยนชี้แจงอย่างไรก็ไม่ฟัง เอียวหงีเอาแต่อ้างว่าเป็นคำสั่งมหาอุปราช สุดท้ายจนใจ ได้แต่มองไปยังทิศของทัพใหญ่ เหมือนจะเพ่งมองให้เห็นคนผู้ถือพัดขนนกผู้นั้นแล้วกล่าว “จูกัดเหลียง เจ้ามันคนถ่อยชัดๆ”
(ถ้อยรำพึง คาดว่าจะเป็นความคิดของอุยเอี๋ยน)
เสียดาย เสียดายนัก
เพียงเส้นยาแดงที่พลาดไป
เหลือไว้เพียงสายตาที่หยามหยัน
จากนั้นมาขงเบ้งก็ไม่ได้จัดให้อุยเอี๋ยนออกรบอีกเลย อุยเอี๋ยนอยู่ในกองทัพได้แต่ออกล่าสัตว์และกินแหล้าไปวันๆหนึ่ง
เกียงอุย : บุนเชียง (ชื่อเดิมอุยเอี๋ยน) เมาแล้วระวังปากด้วย ท่านว่ามหาอุปราชขี้ขลาดหมายความว่ากระไร
อุยเอี๋ยน : หากม่ใช่มหาอุปราชขลาดเขลา ดินแดนแถบตะวันตกของกำเอี๊ยงได้ราบคาบไปนานแล้ว มันมักเป็นเช่นนี้ ชอบดูถูกเหล่าขุนศึกเสมอ ชื่อเสียงที่ว่าใช้ทหารได้ดั่งเทพยดา หากไม่ได้เหล่าทหารหาญบุกฝ่าสละชีพ มันหรือจะเป็นเทพยดาได้
อุยเอี๋ยน : ท่านและข้าต่างก็เป็นทหารที่สวามิภักดิ์ ทำไมมันถึงดีต่อเจ้านัก
เกียงอุย : ท่านเมาแล้ว
อุยเอี๋ยน : ข้าไม่ได้เมาข้าอยากฟังความเห็นของเจ้า
เกียงอุย : ข้า.. ข้าก็ไม่รู้
อุยเอี๋ยน : พ่อหนุ่ม ข้าจะบอกให้ มหาอุปราชไม่สันทัดการใช้คนเท่าอดีตองค์ฮ่องเต้ จิตใจก็คับแคบ แม้มันเป็นอัจฉริยะและชื่นชมอัจฉริยะ แต่มันก็ก็ชอบอัจฉริยะที่เชื่อฟังมันเท่านั้น
(ถ้อยรำพึง คาดว่าจะกล่าวถึงการที่ขงเบ้งบุกเขาหลีซานห้าครั้ง โดยใช้เส้นทางเดิมทุกครั้ง อ้างว่ากลัวทางถอยถูกตัดขาด)
ความอันตรายของหนทาง
ไม่ได้อยู่ที่ทะเลลึกแค่ไหน คลื่นใหญ่เท่าไร
ไม่ได้อยู่ที่เขาสูงเพียงไหน ผาชันเพียงไร
แต่อยู่ที่ความพลิกผันของจิตใจมนุษย์
และมีดที่ซ่อนอยู่ในรอยยิ้ม
(ถ้อยรำพึง คาดว่าเป็นเล่าปี่พูดกับขงเบ้ง)
ขงเบ้ง…
ถ้าเรื่องหลักการปกครองบริหารประเทศ ท่านเหนือกว่าข้าจริงๆ
แต่ว่าเรื่องการใช้คนให้ถูกงานแล้ว ข้าเหนือกว่าท่านมากนัก
ขอจบช่วงหนึ่งของหนังสือแต่เพียงเท่านี้ครับ ตอนท้ายเล่มเรื่องจะเข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อขงเบ้งใกล้วจะถึงจุดสุดท้ายของ ชีวิตและกลัวว่าอุยเอี๋ยนจะก่อการกบฎ
หลักเรื่องการบริหารงานกับบริหารคนนี่โดนใจผมจริงๆ เปรียบเทียบได้เลยกับชีวิตการทำงานครับ ในองกรณ์ใหญ่ๆเรามีดัชนีชี้วัดความเป็นไปในการทำงานมากมาย แต่โดยมากดัชนีเหล่านันวัดมาจากค่าตายตัวบางอย่าง เราชอบดูว่า โปรเจคเราเสร็จทันเวลาไหม ล่าช้าไปเท่าไร คลาดเคลื่อนไปจากที่ประมาณการเท่าไร effort ที่ลงไปนั้นใช้ไปกับระยะไหนมากที่สุด เรากรอกตัวเลขลง excel แล้วเอามาทำ graph และ chart แล้วเราก็มานั่งสุมหัวกันดูค่าเหล่านี้ ทึกทักเอาว่ามันมันข้อมูลครอบคลุมทุกด้านของโปรเจค เห็น graph ออกมาดี สวย เราก็ว่าโปรเจคมันประสบความสำเร็จ หลงลืมไปว่าเบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้นคืออะไร คือคนไงครับ คือน้องๆที่ทำงานให้มันได้ตัวเลขสวยๆเหล่านั้น มีคนเคยบอกว่า ทรัพยากรณ์ที่สำคัญที่สุดขององกรณ์ก็คือคนในองกรณ์นั่นละ แล้วเราดูแลทรัพยากรณ์ที่สำคัญที่สุดนี้ดีแค่ไหน
บริหารคนต้องไม่ด้อยกว่าบริหารงาน ได้คนดีมีฝีมือ แม้กลุ่มเล็กก็ทำงานเกินตัวได้ แต่คนมากหากใช้ไม่ถูกบริหารไม่เป็น แม้งานเล็กๆก็แทบจะเข็นกันให้เสร็จไม่ได้ ขงเบ้งสมัยอยู่กับเล่าปี่ครองเมืองเก๊งจิ๋วเล็กๆ ได้ยอดฝีมือ กวนอู เตียวหุย จูล่ง ฝ่าฝนจนได้ครองแผ่นดินหนึ่งในสาม ต่อมาเหลือตัวคนเดียวมองหาทั้งแค้วนฉู ไม่เห็นใครพอจะวางใจใช้งานได้สักคน สุดท้ายก็เสียแผ่นดิน